รู้จักตัวอย่างพรรณไม้

รูปพรรณไม้ในสวนป่าโรงเรียนหนองบัว ข้อมูลพรรณไม้ต่าง ๆ ที่มีประโยชน
รูปต้นไม้ รูปต้นไม้พร้อมชื่อ รูปพร้อมข้อมูล เฉพาะข้อมูล
 

สมุนไพร คืออะไร?

พืชสมุนไพร ลักษณะของพืขสมุนไพร การเก็บรักษาพืชสมุนไพร วิธีเก็บพืชสมุนไพร

 พืชสมุนไพร

พืชสมุนไพร นับว่าเป็นยาที่สำคัญสำหรับรักษาโรคต่าง ๆ ได้มากมาย โดยเฉพาะย่างยิ่ง "พืชสมุนไพร" ทั้งหลาย
พืชสมุนไพร ที่นำเอาไปเป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคของคนเรานั้น ได้รับการอนุญาตให้ใช้รักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์เราได้ โดยมีพระราชบัญญัติยา พุทธศักราช 2522 ปรากฎออกมา อันมีความหมายถึง ยาที่ได้มาจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งยังมิได้ผสมปรุงหรือทำการแปรสภาพ เป็นต้นว่า ส่วนของราก หัว เปลือก ลำต้น ดอก ใบ เมล็ด ผล
บางท่านอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า "สมุนไพร" มีแต่พืชเพียงอย่างเดียว หามิได้ เพราะยังมีสัตว์และแร่ธาตุต่าง ๆ อีก 
สมุนไพรที่เป็นสัตว์ได้แก่ หนัง เขา กระดูก ดี หรือเป็นสัตว์ทั้งตัวก็มี เช่น ตุ๊กแก ไส้เดือน ม้าน้ำ ฯลฯ
ส่วนแร่ธาตุก็มี เกลือแกง น้ำปูนใส สารหนู ( เป็นส่วนน้อย โดยนำเอามาจากสีที่ใช้เขียนลวดลายของถ้วยชาม เก่า ๆ )
"พืชสมุนไพร" นั้นตั้งแต่โบราณก็ทราบกันดีว่ามีคุณค่าทางยามากมาย ซึ่งเชื่อกันอีกด้วยว่า ต้นพืชต่าง ๆ ก็เป็นพืชที่มีสารที่เป็นตัวยาด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าพืชชนิดไหนจะมีคุณค่าทางยามากน้อยกว่ากันเท่านั้น
"พืชสมุนไพร" หรือวัตถุธาตุนี้ หรือด้วยยาสมุนไพรนี้แบ่งออกเป็น 5 ประการด้วยกัน คือ
1. รูป ได้แก่ ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เปลือกไม้ แก่นไม้ กระพี้ ไม้ รากไม้ เมล็ด
2. สี มองแล้วเห็นว่าสีเขียวใบไม้ สีเหลือง สีแดง สีส้ม สีขาว สีม่วง สีน้ำตาล สีดำ
3. กลิ่น ให้รู้ว่ามีกลิ่นหอม เหม็น หรือกลิ่นอย่างไร เช่น กลิ่นหอมของแก่นจันทน์ ดอกมะลิ อบเชย กฤษณา หญ้าฝรั่ง ชมดเขียง
4. รส ให้รู้ว่ามีรสอย่างไร รสจืด รสฝาด รสขม รสเค็ม รสเปรี้ยว รสเผ็ด รสหวาน รสมัน รสเย็น เป็นต้นว่า รสชะเอมมีรสหวาน บอระเพ็ดมีรสขม ดอกมะลิมีรสเย็น และลูกเบญจกานีมีรสฝาด ดังนี้เป็นต้น
5. ชื่อ ต้องรู้ว่ามีชื่ออย่างไรในพืชสมุนไพรนั้น ๆ ให้รู้ว่า ขิงเป็นอย่างไร ข่าเป็นอย่างไร ใบขี้เหล็กเป็นอย่างไร เปลือกแคเป็นอย่างไร ดอกมะขามเป็นอย่างไร ผลมะเกลือเป็นอย่างไร หรือรากบัวเป็นอย่างไร เป็นต้น
พืชสมุนไพรมีอยู่เป็นจำนวนมากมายจริง ๆ เพราะได้กล่าวมาแล้วว่าต้นไม้หรือพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในโลกนี้ล้วนแต่เป็นพืชสมุนไพรทั้งนั้น สุดแท้แต่ว่าจะมีสารทางยามากน้อยเพียงใดเท่านั้นเอง และเท่าที่แพทย์แผนโบราณนำเอามาใช้เป็นยานั้นก็คือเอาแต่พืชที่มีคุณค่าทางยาสูงมาใช้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีพืชพันธุ์ต่าง ๆ อีกมากมายที่เรายังไม่ทราบว่าจะมีสรรพคุณทางยาอีกมากน้อยเพียงไร ซึ่งอาจจะยังไม่ค้นพบเท่านั้นเอง
มีการแยกแยะ "พืชสมุนไพร" เอาไว้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน ซึ่งก็เพื่อใช้สะดวกต่อการนำเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชสมุนไพรนั้น ๆ มาใช้ประโยชน์นั่นเอง 

ลักษณะของพืชสมุนไพร

"พืชสมุนไพร" โดยทั่วไปนั้นแบ่งออกเป็น 5 ส่วนสำคัญด้วยกัน คือ
1. ราก
2. ลำต้น
3. ใบ
4. ดอก
5. ผล
"พืชสมุนไพร" เหล่านี้มีลักษณะลำต้น ยอด ใบ ดอก ที่แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ แต่ส่วนต่าง ๆ ก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกัน เช่น รากก็ทำหน้าที่ดูดอาหารมาเลี้ยงลำต้น กิ่งก้านและใบกับส่วนต่าง ๆ นั่นเอง
ใบทำหน้าที่ ปรุงอาหาร ดูดออกซิเจน และคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา
ดอก ผล เมล็ด ก็ทำหน้าที่สืบพันธุ์กันต่อไปเพื่อให้พืชพันธุ์นี้แพร่กระจายออกไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
1. ราก
รากของพืชโดยทั่วไปคือ ส่วที่งอกออกไปจากลำต้นยื่นลงไปในดิน ไม่มีการแบ่งข้อและแบ่งปล้อง ส่วนนี้จะไม่มีใบ ตา และดอกเลย
หน้าที่ของรากก็คือ สะสมและดูดซึมอาหารมาทำการบำรุงเลี้ยงลำต้นและส่วนอื่น ๆ รวมทั้งเป็นส่วนที่ยึดค้ำจุนลำต้นพืชนั้น ๆ อีกด้วย
รากของพืชมากมายหลายชนิดเอามาใช้เป็นยาสมุนไพรได้อย่างดี เช่น ข่า กระชาย ขิง ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย เร่ว เป็นต้น
รูปร่างและลักษณะของราก แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1.1 รากแก้ว ต้นพืชมากมายหลายชนิดมีรากแก้วอยู่ นับว่าเป็นรากที่สำคัญมาก งอกออกมาจากลำต้นส่วนปลาย รูปร่างยาวใหญ่ เป็นรูปกรวย ด้านข้างของรากแก้วจะแตกออกเป็นรากเล็กรากน้อย และรากฝอยออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อทำการดูดซึมอาหารในดินไปบำรุงเลี้ยงลำต้น กิ่งก้านและใบ มักจะเป็นพืชที่มีใบเลี้ยงคู่ จะมีรากแก้วอยู่ด้วย
1.2 รากฝอย รากฝอยก็เป็นส่วนที่งอกออกมาจากลำต้นของพืชที่ส่วนปลาย งอกออกมาเป็นรากฝอยจำนวนมาก ลักษณะของรากจะกลมยาว มีขนาดเท่า ๆ กัน ต้นพืชที่มีใบเลี้ยงเดี่ยวจะมีรากฝอย เช่น หญ้าคา ตะไคร้ เป็นต้น
2. ลำต้น
นับว่าเป็นโครงสร้างที่สำคัญของต้นพืชทั้งหลายที่มีอยู่สามารถค้ำยันเอาไว้ไม่ให้โค่นล้มลง โดยปกติแล้วลำต้นจะอยู่บนดิน แต่มีบางส่วนอยู่ใต้ดินพอสมควร จะมีข้อ ปล้อง ใบ หน่อ และดอกอยู่ด้วย หน้าที่ของลำต้นพืชก็ได้แก่การลำเลียงอาหาร ค้ำจุน สะสมอาหาร ลำต้นของพืชมากมายหลายชนิดมีสรรพคุณเป็นยา เช่น ต้นแคบ้าน ต้นขี้เหล็ก ต้นมะขาม ต้นบอระเพ็ด ต้นตะไคร้ ต้นข่อย เป็นต้น
รูปร่างลักษณะของลำต้นนั้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ
- ตา
- ข้อ
- ปล้อง
บริเวณเหล่านี้จะมีกิ่ง ก้าน ใบ ดอก เกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ต้นพืชแต่ละชนิดมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปด้วย หากต้องการสังเกตว่าส่วนที่อยู่เหนือดินของพืชสมุนไพรสิ่งแรกที่จะต้องังเกตก็คือ ลำต้น ว่าลำต้นของพืชนั้นเป็นอย่างไร ลักษณะตา ข้อและปล้อง เป็นประการใด แตกต่างกว่าลำต้นของพืชชนิดอื่นอย่างไร
ชนิดของลำต้นพืช แบ่งตามลักษณะภายนอกของลำต้นได้เป็น
1. ประเภทไม้ยืนต้น
นับว่าเป็นต้นไม้ที่ขึ้นตรงและมีความสูงใหญ่มาก มีเนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง ลำต้นชัดเจน กิ่งก้านแตกแยกออกไป เช่น มะกา คูน ยอ เป็นต้น
2. ประเภทไม้พุ่ม
มีลำต้นที่ไม่ชัดเจน สามารถแบ่งกิ่งได้ตั้งแต่ส่วนโคนของลำต้นเป็นต้นด้วย เช่น ทองพันชั่ง ชุมเห็ดเทศ มะนาว ขลู่ เป็นต้น
3. ประเภทหญ้า 
ต้นมีลักษณะเช่นเดียวกับหญ้าทั่วไป มีใบลักษณะอ่อนเหนียว เช่น แห้วหมู หญ้าคา เป็นต้น
4. ประเภทไม้เลื้อย
ก้านยาวไม่สามารถตั้งตรงขึ้นไปได้ มีลักษณะเลื้อยพันไปมา คดเคี้ยว ใช้ส่วนของพืชที่เรียกว่า หนวด หนามเกาะสิ่งต่าง ๆ ไปด้วย เป็นส่วนที่ลอกออกจากลำต้นนั่นเอง เนื้อไม้ที่ลำต้นบางอย่างก็เป็นเนื้อไม้แข็ง บางชนิดก็อ่อน เช่นเดียวกับหญ้า เช่น บอระเพ็ด ฟักทอง มะแว้งเครือ เล็บมือนาง เป็นต้น
3. ใบ
ใบเป็นส่วนประกอบสำคัญของต้นพืชทั่วไป มีหน้าที่ทำการสังเคราะห์แสง ผลิตอาหาร และเป็นส่วนแลกเปลี่ยนน้ำและอากาศให้ต้นพืช ใบเกิดจากด้านนอกของกิ่งหรือตา ลักษณะที่พบเห็นทั่วไปนั้นเป็นแผ่นสีเขียว ใบไม้ (สีเขียวเกิดจากสารที่มีชื่อว่า "คลอโรฟิลล์" อยู่ในใบของพืช) ใบของพืชหลายชนิดใช้เป็นยาสมุนไพรได้ดีมาก เช่น ใบกระเพรา ใบฟ้าทะลายโจร ใบชุมเห็ดเทศ ใบฝรั่ง ใบมะขามแขก ใบชะพลู เป็นต้น
รูปร่างลักษณะของใบนั้น ใบที่สมบูรณ์มีส่วนประกอบรวม 3 ส่วนด้วยกัน คือ
- ตัวใบ
- ก้านใบ
- หูใบ
ใบที่มีส่วนประกอบครบถ้วนทั้ง 3 ประการนี้จะเรียกว่า "ใบสมบูรณ์" และใบที่มีส่วนประกอบไม่ครบ อาจจะมีเพียง 1 หรือ 2 ส่วนเท่านั้นก็เรียกว่า "ใบไม่สมบูรณ์" 
ตัวของใบมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ตัวใบยึดอยู่กับก้านใบด้านล่างของก้านใบติดอยู่กับตากิ่ง หูใบติดอยู่กับด้านข้างทั้งสองของก้านใบส่วนปลาย
หูใบนี้มีบทบาทการรักษาใบในระหว่างที่ยังอ่อนอยู่ หูใบมีขนาดเล็ก และเป็นสีเขียว หากพิจารณาถึงลักษณะของตัวใบแล้ว จะประกอบด้วยรูปร่างของใบ ปลายใบ ฐานใบหรือโคนใบ ริมใบหรืออาจจะเรียกได้ว่าหยักใบ และอาจจะสังเกตภายในของตัวใบได้อีกถึงเส้นใบและเนื้อของใบ ในที่นี้จะไม่จำแนกว่าปลายใบหรือโคนใบมีกี่แบบ จึงขอเสนอแนะแต่เพียงว่าหากต้องการสังเกตลักษณะของใบ ให้พิจารณาตั้งแต่รูปร่างของใบ ปลายใบ โคนใบ ริมใบ เส้นใบและเนื้อของใบอย่างละเอียด อาจจะเปรียบเทียบกับลักษณะของตัวใบที่คล้ายคลึงกันจะทำให้จำแนกใบได้อย่างชัดเจนขึ้น
1. ชนิดใบเดี่ยว
หมายถึง ก้านใบอันหนึ่ง มีเพียงใบเดียว เช่น กานพลู ขลู่ ยอ กระวาน เป็นต้น
2. ชนิดใบประกอบ
หมายถึง ใบตั้งแต่ 2 ใบขึ้นไปที่เกิดขึ้นก้านใบอันเดียว มี มะขามแขก แคบ้าน ขี้เหล็ก มะขาม เป็นต้น
สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างของใบ คือ ลักษณะการเรียงตัวของใบที่มีหลายแบบ เช่น เกิดสับหว่างกัน เกิดเป็นคู่ เกิดเป็นกลุ่ม เกิดเป็นวงกลม เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วก็ยังมีเส้นใบ โดยทั่วไปแล้วเส้นใบมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบขนานและแบบร่างแห รวมทั้งยังมีความแตกต่างของเนื้อใบ
เนื้อใบก็มีหลายอย่าง เช่น แบบหนัง แบบหญ้า แบบกระดาษ แบบอมน้ำ หากจะสังเกตตัวใบก็ควรสังเกตความหนาบางและความอมน้ำของใบด้วย จะทำให้เรารู้จักต้นไม้นั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
4. ดอก
ส่วนของดอกเป็นส่วนสำคัญในการแพร่พันธุ์ของพืช เป็นลักษณะเด่นพิเศษของต้นไม้แต่ละชนิด ส่วนประกอบของดอกมีความแตกต่างกันตามชนิดของพันธุ์ไม้ และลักษณะที่แตกต่างกันนี้ ใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการจำแนกประเภทของต้นไม้ ดอกของต้นไม้หลายชนิดเป็นยาได้ เช่น กานพลู ชุมเห็ดเทศ ลำโพง พิกุล มะลิ ดอกคำฝอย เป็นต้น
รูปร่างลักษณะของดอก ดอกจะต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญ 5 ส่วน คือ
- ก้านดอก
- กลีบรอง
- กลีบดอก
- เกสรตัวผู้
- เกสรตัวเมีย
ดอกที่มีส่วนประกอบทั้ง 5 ส่วนเรียกว่า "ดอกสมบูรณ์" การสังเกตลักษณะของดอก ควรสังเกตทีละส่วนอย่างละเอียด เช่น กลีบดอก สังเกตจำนวนของกลีบดอก การเรียงตัวของกลีบดอก สังเกตรูปร่างของกลีบดอก สี กลิ่น เป็นต้น
ลักษณะที่ดอกออกจากตาดอกนั้น มีทั้งแบบดอกเดี่ยว คือ มีก้านดอกอันหนึ่งมีดอกเพียงดอกเดียว และแบบดอกช่อ คือ ก้านดอกอันหนึ่งมีมากกว่า 2 ดอกขึ้นไป การเรียงตัวของช่อดอกนี้มีมากมายหลายอย่างขึ้นอยู่กับชนิดของพืชนั้น ๆ จึงควรสังเกตลักษณะของพืชที่มีดอกแต่ละชนิด
5. ผล 
ผลคือ ส่วนหนึ่งของพืชที่เกิดจากการผสมเกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน หรือคนละดอกก็ได้ มีลักษณะรูปร่างแตกต่างกันออกไปตามชนิดของพืช มีผลของต้นไม้บางชนิดเป็นยาได้ เช่น ดีปลี มะเกลือ มะแว้งเครือ กระวาน เป็นต้น
รูปร่างลักษณะของผลมีมากมายหลายอย่างตามชนิดของต้นไม้ที่แตกต่างกัน แบ่งตามลักษณะของการเกิดได้รวม 3 แบบ
1. ผลเดี่ยว หมายถึง ผลที่เกิดจากรังไข่อันเดียวกัน
2. ผลกลุ่ม หมายถึง ผลที่เกิดจากปลายช่อของรังไข่ในดอกเดียวกัน เช่น น้อยหน่า เป็นต้น
3. ผลรวม หมายถึง ผลที่เกิดมาจากดอกหลายดอก เช่น สับปะรด เป็นต้น
มีการแบ่งผลออกเป็น 3 ลักษณะอีก คือ
1. ผลเนื้อ
2. ผลแห้งชนิดแตก
3. ผลแห้งชนิดไม่แตก
อย่างไรก็ตาม การสังเกตลักษณะของผลทำได้ไม่ยากนัก ต้องสังเกตผลทั้งลักษณะภายนอกและภายใน จึงจะสามารถจำแนกผลไม้นั้นว่าแตกต่างกับต้นไม้อื่นอย่างไร
นอกจากผลของต้นไม้เป็นยาได้ ยังมีเมล็ดภายในผลเป็นยาได้อีกด้วย เช่น เมล็ดสะแก เมล็ดฟักทอง เป็นต้น ฉะนั้นในการสังเกตลักษณะของผลควรสังเกตลักษณะรูปร่างของเมล็ดตามไปด้วยก็จะดีมาก
"พืชสมุนไพร" นั้นมีสรรพคุณทางยาดีมาก คนโบราณใช้ทำการรักษาโรคกันมานานแล้ว ควรอนุรักษ์ไว้ให้ดีในวงการแพทย์ก็มองเห็นความสำคัญของพืชที่มีประโยชน์ในทางยานี้มากเช่นเดียวกัน มีการนำเอา "พืชสมุนไพร" ไปสกัดเอาสารสำคัญที่มีอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของพืชสมุนไพรทำประโยชน์กันมาก
ในชนบทที่ห่างไกลก็ใช้ "พืชสมุนไพร" นี้เองช่วยในการบำบัดรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งก็นับว่าได้ผลดีมาก เช่น
- ใช้ชุมเห็ดเทศ เป็นยาถ่าย ยาระบาย
- ใช้ขิง เป็นยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
- ใช้ฟ้าทะลายโจร เป็นยาแก้ไข้ลดความร้อน
- ใช้มะแว้งเครือ เป็นยาขับเสมหะ
- ใช้ขลู่ เป็นยาขับเสมหะ
- ใช้มะระ เป็นยาขมเจริญอาหาร
- ใช้บัวบก เป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ร้อนใน
- ใช้กาฝากมะม่วง เป็นยาลดความดันโลหิตสูง
- ใช้เตยหอม เป็นยากบำรุงหัวใจ
- ใช้ฝาง เป็นยาขับประจำเดือน
- ใช้กระเพรา เป็นยาเพิ่มน้ำนมให้สตรีหลังคลอด
- ใช้มะนาว เป็นยาแก้เลือดออกตามไรฟัน หรือเรียกว่า โรคลักปิดลักเปิด
- ใช้ไพล เป็นยารักษาโรคหืด
- ใช้ตำลึง รักษาโรคเบาหวาน
- ใช้เพ็ชสังฆาต เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร
สิ่งเหล่านี้เป็นความสามารถของแพทย์แผนโบราณที่ยึดเอา "พืชสมุนไพร" เป็นหลักในการรักษาโรคที่เกิดขึ้นกับคนเรามานับร้อยนับพันปีมาแล้ว

การเก็บรักษาพืชสมุนไพรและการแปรสภาพ

ในการใช้ "พืชสมุนไพร" มาทำเป็นตัวยารักษาโรคต่าง ๆ นั้น แพทย์แผนโบราณใช้ "พืชสมุนไพร" นี้ได้ทั้งสด ๆ และตากแห้งแล้ว
ในการใช้ "พืชสมุนไพร" ขณะที่ยังสด ๆ อยู่เป็นวิธีการที่สะดวกมาก ใช้ก็ง่าย แต่ฤทธิ์ของตัวยาที่มีอยู่ในพืชสมุนไพร อาจจะไม่คงที่ ในบางครั้งการออกฤทธิ์อาจจะดีแต่บางครั้งก็ออกฤทธิ์ได้ไม่ดีนัก
"พืชสมุนไพร" ที่ใช้สด ๆ นั้นมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น ว่านหางจระเข้ รากหญ้าคา เป็นต้น แต่การใช้ยาสมุนไพรส่วนมากนิยมใช้แห้ง เพราะจะได้คุณภาพของยาที่คงที่ โดยเลือกเก็บยาสมุนไพรที่ต้องการตามฤดูกาลเก็บของพืช แล้วนำเอามาแปรสภาพโดยผ่านกระบวนการที่เหมาะสมเพื่อเก็บยาเอาไว้ใช้ได้เป็นเวลานาน
ในการแปรสภาพยาที่เหมาะสมนั้น โดยทั่วไปก็จะต้องนำส่วนที่ใช้เป็นยามาผ่านการคัดเลือก ผ่านการล้าง การตัดเป็นชิ้นที่เหมาะสมแล้วใช้ความร้อนทำให้แห้ง เพื่อสะดวกในการเก็บรักษา วิธีการแปรสภาพยาสมุนไพรนั้นแตกต่างไปตามชนิดของพืชสมุนไพร ส่วนที่ใช้เป็นยาและความเคยชินของแต่ละท้องที่ วิธีการที่ใช้บ่อยและจะเอาส่วนไหนองพืชที่เป็นยามาใช้คือ
1. รากและส่วนที่อยู่ใต้ดิน
ก่อนอื่นต้องคัดเอาขนาดที่พอ ๆ กันเอาไว้ด้วยกันเพื่อจะได้สะดวกในการแปรสภาพต่อไปนั่นเอง ต่อจากนั้นก็ล้างดินและสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ให้สะอาดเสียก่อน เอารากฝอยออกให้หมด หากว่าเป็นพืชที่มีเนื้อแข็ง แห้งได้ยาก จะต้องหั่นเป็นชิ้นที่เหมาะสมก่อน ถ้าเป็นพืชที่ไม่แข็งนำมาผ่านกระบวนการให้ความร้อนตามแต่ละชนิดของพืชนั้น ๆ พืชที่ใช้หัวและรากประกอบด้วย โปรตีน แป้ง เอนไซม์ หากผ่านกระบวนการให้ความร้อนแบบต้มหรือนึ่ง จะทำให้สะดวกในการเอาไปทำให้แห้ง
แล้วอบให้แห้งในอุณหภูมิที่เหมาะสม
2. การเก็บรักษาพืชสมุนไพร
การเก็บรักษาพืชสมุนไพรเอาไว้เป็นเวลานาน มักจะเกิดการขึ้นราหรือเกิดมีหนอน เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะของสี กลิ่น ทำให้ยาสมุนไพรเสื่อมคุณภาพลงได้ ทำให้เกิดไม่ออกฤทธิ์ในการบำบัดรักษา สูญเสียฤทธิ์ของยาไปเลย ด้วยเหตุนี้เอง จะต้องมีการเก็บรักษาที่ดีเพื่อประกันคุณภาพและฤทธิ์การรักษาของยาสมุนไพรนั้น
ในการเก็บรักษานั้นควรปฏิบัติดังนี้
- ยาที่เก็บรักษาเอาไว้จะต้องทำให้แห้ง เพื่อป้องกันการขึ้นราและการเปลี่ยนลักษณะเกิดภาวะ "ออกซิไดซ์" ยาที่ขึ้นราง่ายจะต้องเอาออกตากแดดอยู่เสมอ
- สถานที่ที่เก็บจะต้องแห้ง เย็น การถ่ายเทของอากาศจะต้องดี
- ควรแบ่งเก็บเป็นสัดส่วน ยาที่มีพิษ ยาที่มีกลิ่นหอมควรเก็บเอาไว้อย่างมิดชิด ป้องกันการสับสนปนกัน
- จะต้องคอยหมั่นดูแลอย่าให้มีหนอน หนู แมลง ต่าง ๆ มารบกวน รวมทั้งระวังเรื่องความร้อน ไฟ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

วิธีเก็บส่วนของพืชใช้เป็นยา

"พืชสมุนไพร" มีมากมาย บางทีก็อาจจะเอาเปลือกของลำต้นมาใช้ประโยชน์ในการทำเป็นยาหรือบางชนิดเอาดอกมาทำเป็นยาเท่านั้น
แต่บางอย่างอาจจะต้องใช้ใบก็ได้ หรืออาจจะเอาส่วนของรากมาทำเป็นยาก็มี
ด้วยเหตุนี้เองการเก็บส่วนที่จะเอามาใช้ประโยชน์จึงมีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน จะเก็บอย่างไรจึงจะถูกวิธีหรนือทำให้ได้คุณค่าทางยามากที่สุด ไม่เสียหาย
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งเห็นจะได้แก่ "ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บพืชสมุนไพรเอามาเป็นยา" นี่เอง
การเก็บส่วนของพืชสมุนไพรเอามาทำเป็นยานั้น ถ้าเก็บในระยะเวลาที่ไม่เหมาะสมก็มีผลต่อการออกฤทธิ์ในการรักษาโรคของยาสมุนไพรได้
นอกจากจะต้องคำนึงถึงเรื่องของเวลาในการเก็บยาเป็นสำคัญแล้ว ยังต้องคำนึงถึงว่าการเก็บยานั้นถูกต้องหรือไม่ ส่วนไหนของพืชใช้เป็นยารู้หรือเปล่า ? ที่ดินที่ปลูกพืชสมุนไพรเป็นอย่างไร ?
การเลือกเก็บส่วนที่เป็นยาอย่างถูกวิธีการนั้น จะมีผลอย่างมากมายต่อประสิทธิภาพของยาที่จะนำเอามารักษาโรค หากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ปริมาณตัวยาที่มีอยู่ในสมุนไพรนั้น ๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยทำให้ยาที่ได้มานั้นไม่เกิดผลดีในการบำบัดรักษาโรคได้เท่าที่ควร
หลักการโดยทั่วไปในการเก็บส่วนของพืชที่ใช้เป็นยาสมุนไพร แบ่งออกได้ดังนี้
1. ประเภทรากหรือหัว
สมควรเก็บในช่วงเวลาที่พืชหยุดการเจริญเติบโต ใบดอก ร่วงหมดแล้ว หรือในช่วงต้นฤดูหนาวถึงปลายฤดูร้อนเพราะเหตุว่าในช่วงเวลานี้ รากและหัวมีการสะสมปริมาณตัวยาเอาไว้ค่อนข้างสูง วิธีการเก็บจะต้องใช้วิธีขุดด้วยความระมัดระวังให้มาก อย่าให้รากหรือหัวเกิดการเสียหายแตกช้ำหักขาดขึ้นมาได้
รากหรือหัวของพืชสมุนไพรก็มี เช่น ข่า กระชา กระทือ ขิง เป็นต้น
2. ประเภทใบหรือเก็บทั้งต้น
ควรเก็บในช่วงที่พืชเจริญเติบโตมากที่สุด หรือพืชบางอย่างอาจจะระบุช่วงเวลาเก็บอย่างชัดเจน เช่น เก็บใบไม่อ่อนไม่แก่เกินไป ( ใบเพสลาด ) เก็บในช่วงดอกตูมเริ่มบานหรือช่วงเวลาที่ดอกบาน เป็นต้น การกำหนดช่วงเวลาที่เก็บใบ เพราะช่วงเวลานั้น ใบมีตัวยามากที่สุด วิธีการเก็บก็ใช้วิธีเด็ด ตัวอย่างเช่น กระเพรา ใบฝรั่ง ใบฟ้าทะลายโจร เป็นต้น
3. ประเภทเปลือกต้นและเปลือกราก
เปลือกต้นโดยมากเก็บระหว่างฤดูร้อนต่อกับฤดูฝน ปริมาณยาในพืชสมุนไพรก็มีสูง และลอกออกได้ง่ายสะดวก ในการลอกเปลือกต้นนั้น อย่าลอกเปลือกออกทั้งรอบต้น เพราะจะกระทบกระเทือนในการส่งลำเลียงอาหารของพืชจะทำให้ตายได้
ทางที่ดีควรลอกจากเปลือกกิ่งหรือส่วนที่เป็นแขนงย่อย ไม่ควรลอกออกจากลำต้นใหญ่ของต้นไม้ หรือจะใช้วิธีลอกออกในลักษณะครึ่งวงกลมก็ได้ ส่วนเปลือกรากเก็บในช่วงฤดูฝนเหมาะที่สุด เนื่องจากการลอกเปลือกต้นหรือเปลือกรากเป็นผลเสียต่อการเจริญเติบโตของพืช ควรสนใจวิธีการเก็บที่เหมาะสมจะดีกว่า
4. ประเภทดอก
โดยทั่วไปเก็บในช่วงดอกเริ่มบาน แต่บางชนิดเก็บในช่วงดอกตูม เช่น กานพลู เป็นต้น
5. ประเภทผลและเมล็ด
พืชสมุนไพรบางอย่างจะเก็บในช่วงที่ผลยังไม่สุกก็มี เช่น ฝรั่ง เก็บเอาผลอ่อนมาเป็นยาแก้ท้องร่วง แต่โดยทั่วไปมักเก็บเมื่อผลแก่เต็มที่แล้ว ตัวอย่างเช่น มะแว้ง มะแว้งเครือ ดีปลี เมล็ดฟักทอง เมล็ดชุมเห็ดไทย เมล็ดสะแก เป็นต้น
ประสบการณ์ของแพทย์แผนโบราณของไทยเรานั้นก็ได้ระบุเอาไว้ด้วยว่าจะต้องมีการเก็บพืชสมุนไพรตามฤดูกาล วันเวลา โมงยาม และจะต้องมองดูทิศอีกด้วย เช่น ใบพืชสมุนไพรนั้น ควรเก็บในช่วงเวลาตอนเช้าของวันอังคาร ในฤดูฝนทางทิศตะวันออก เป็นต้น
มีคำแนะนำที่ดีควรปฏิบัติตามที่แพทย์แผนโบราณว่าเอาไว้ว่า การเก็บตัวยาที่เป็นพืชสมุนไพรดังกล่าว ผู้ที่ศึกษาและต้องการเก็บพืชสมุนไพรสามารถเรียนรู้ได้จากหมอพื้นบ้านที่มีอยู่ในหมู่บ้านได้ ทั้งนี้เพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการเก็บยามามากมายแล้ว รวมทั้งได้ใช้ยามาช้านานอีกด้วย
วิธีเก็บพืชสมุนไพรที่ถูกต้องและเหมาะสมนั้น โดยทั่วไปก็ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนนัก ประเภท ใบ ดอก ผล ใช้วิธีเด็ดแบบธรรมดา ส่วนราก หัว หรือเก็บทั้งต้น ใช้วิธีขุดอย่างระมัดระวัง ่เพื่อทำให้ได้ส่วนที่เป็นยามากที่สุด
สำหรับเปลือกต้นหรือเปลือกราก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของพืช ควรสนใจวิธีเก็บที่ดี ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
คุณภาพของยาสมุนไพรที่จะใช้รักษาโรคได้ดีหรือไม่นั้น สำคัญอยู่ที่ช่วงเวลาการเก็บสมุนไพรและวิธีการเก็บ ยังมีปัจจัยอื่น ที่จะต้องคำนึงอีกอย่างคือ พื้นดินที่ปลูกพืชสมุนไพร เช่น ลำโพง ควรปลูกในพื้นดินที่เป็นด่าง จะมีปริมาณตัวยาสูง สะระแหน่ หากปลูกในที่ดินทราย ปริมาณน้ำมันหอมระเหยจะสูง และยังมีปัญหาทางด้านสภาพสิ่งแวดล้อมในการเจริญเติบโต ภูมิอากาศ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต่างก็มีผลต่อพืชสมุนไพรด้วยกันทั้งสิ้นจึงควรพิจารณาให้ดีในเรื่องนี้ด้วย
เก็บพืชสมุนไพรให้ถูกต้อง เหมาะสม ในช่วงเวลาที่สมควรเก็บ เก็บแล้วจะได้พืชสมุนไพรที่มีปริมาณของตัวยาสูง มีคุณค่า มีสรรพคุณทางยาดีมาก ดีกว่าเก็บในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม